

พุทธทาสภิกขุ
คนหนุ่มสาวกับอุดมคติเพื่อสังคม : ข้อคิดจากชีวิตครูโกมล คีมทอง
คำนำสำนักพิมพ์
ในวาระครบรอบ ๒๐ ปี แห่งการจากไปของโกมล คีมทอง ทางมูลนิธิได้จัดงานรำลึกถึงโกมล คีมทองขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสายธารอุดมคติของ "โกมล" กับคนรุ่นใหม่ เพื่อศึกษาบทเรียนจากชีวิตโกมล ตลอดจนสานต่อภารกิจการสร้างสรรค์สังคมไทยในปัจจุบัน กิจกรรมนี้จะได้จัดขึ้นตลอดปี ๒๕๓๔ นี้
กิจกรรมประเดิมเริ่มแรกที่จัดขึ้นคือ การร่วมกันของกัลยาณมิตรจากกรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และภูเก็ตเพื่อ "ย้อนรอยโกมล คีมทอง" ณ สถานที่ที่โกมลจบชีวิตลงที่ ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๑ - ๓ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ตั้งต้นแต่มีพิธีทางศาสนา ณ ซากโรงเรียนเหมืองห้วยในเขาแห่งเดิม อันเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนชุมชนที่โกมลสร้างขึ้น พร้อมด้วยสัมโมทนียกถา เป็นวาทะแห่งกำลังใจเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีงามในสังคมปัจจุบัน ในตอนเช้าวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ช่วงบ่ายที่ศาลาวัด มีการรำลึกความหลังของชาวบ้านและศิษย์ที่เคยรู้จักโกมล เมื่อยี่สิบปีก่อน ซึ่งยังความตื้นตันใจแก่ผู้พูดและผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นได้พากันไปชมสถานที่บ้านเหนือคลอง ซึ่งโกมล คีมทอง รัตนา สกุลไทย และชาวบ้านผู้นำทางถูกฆาตกรรมด้วยความเข้าใจผิด ตอนค่ำมีการสาธิตและให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีชีวิตทางภาคใต้ ตลอดจนความวิเศษพิสดารของมโนราห์ ซึ่งครั้งหนึ่งโกมล คีมทองเคยส่งเสริม จบลงด้วยรายการอ่านบทกวีและบทเพลงรำลึกโกมล คีมทอง ณ โรงเรียนเหมืองห้วยในเขาแห่งใหม่ในปัจจุบัน พร้อมกับที่คณะผู้ร่วมงาน ได้ร่วมกันสมทบทุนโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนที่นั่น ซึ่งเราได้อาศัยพักแรกด้วย
วันรุ่งขึ้นเป็นการทัศนศึกษาธรรมชาติคลองแสง อันถูกทำลายด้วยพัฒนภัยจากเขื่อนเชี่ยวหลาน (รัชชประภา) จนน้ำเน่าและใช้การไม่ได้ แล้วจึงกลับมาเสวนาเรื่องทางเลือกใหม่ในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสะท้อนความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อและความหวังของคนทำกิจกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโกมล คีมทอง ในคืนที่สองที่พำนักอยู่ ณ สวนโมกขพลาราม ไชยา
วันสุดท้ายของงานตอนหัวรุ่ง คณะได้มีโอกาสฟังธรรมกถาอันล้ำค่า ของพระเดชพระคุณพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) เรื่อง "คนหนุ่มสาวกับอุดมคติเพื่อสังคม : ข้อคิดจากชีวิตครูโกมล คีมทอง" ซึ่งนับเป็นคำบรรยายที่เป็นประโยชน์มาก ทางสำนักพิมพ์จึงได้เร่งจัดพิมพ์ขึ้นให้ทันงานปาฐกถาประจำปีของมูลนิธิในปีนี้ด้วย เพื่อเป็นอนุสติและทิฏฐานุคติสำหรับคนหนุ่มสาวอีกทางหนึ่งด้วย จากนั้นได้มีโอกาสเที่ยวชมสถานที่และฟังธรรมบรรยาย ไขปริศนาธรรมเพื่อดำเนินชีวิตให้สงบเย็นและเป็นประโยชน์จากพระภิกษุในสวนโมกข์อีกด้วย ในฐานะที่โกมล คีมทอง และเพื่อนเคยมาศึกษาสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์พุทธทาสอยู่หลายครั้ง ดังที่เคยเอ่ยชื่อวัดนี้ไว้ในจดหมายถึงเพื่อนบางคนด้วย
งานรำลึกถึงโกมล คีมทองในลักษณะที่ "ย้อนรอย" และวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ น่าจะมีประโยชน์ในการขบคิดถึงอุดมคติซึ่งเป็นส่วนรากฐานและความลุ่มลึก ของชีวิต การย้อนความคิดกลับมาตระหนักในเรื่องของศิลปะและภูมิปัญญาชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น อันเป็นมิติทางประวัติศาสตร์ที่ยาวไกล ตลอดจนปลุกเร้าความสนใจในปัญหาทางนิเวศวิทยา อันเป็นปัญหาที่กว้างขวางครอบคลุมและเชื่อมโยงสัมพันธ์ไปทั่วทุกด้านของชีวิตและโลก ซึ่งนับเป็นปัญหาและภารกิจที่ท้าทายคนรุ่นใหม่แห่งทศวรรษนี้ และที่จริงก็เป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของโกมล คีมทอง และสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทองด้วยเช่นกัน
สำหรับธรรมกถาเล่มนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสช่วยชี้ให้คนหนุ่มสาวเห็นตนเองและเตือนตัวเองในหลายๆ ด้าน นับแต่การเข้าหาและไปให้การศึกษาแก่ชาวบ้าน การพัฒนาโดยขาดความเคารพและความเข้าใจธรรมชาติอย่างแท้จริง ตลอดจนการปล้นทำลายธรรมชาติของส่วนรวม จนโลกหมดสันติภาพและความร่มเย็นเป็นสุข เพราะอำนาจของ "ความเห็นแก่ตัว" ของคนที่ไร้ธรรม การนำชีวิตที่ดีงามกลับคืนมาสู่สังคมอีกครั้ง เราต้องการบุคคลผู้มีอุดมคติโพธิสัตว์อย่างโกมล คีมทอง ซึ่งประกอบด้วยโพธิสัตว์ธรรมอันจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย หมดจดและปลอดภัย
ธรรมของโพธิสัตว์ คือ สุทธิ ปัญญา เมตตา และขันติทั้งในระดับโลกและระดับเหนือโลก ได้แก่ ความบริสุทธิ์ใจในการเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทนเพื่อตนในทางใดๆ อย่างสูงคือการที่มีจิตบริสุทธิ์จากกิเลสในการกระทำการ (สุทธิ) การช่วยเหลือที่ได้ผลต้องประกอบด้วยความรู้เข้าใจถูกต้องและเท่าทันปัญหาที่จะเข้าไปแก้ ถ้ารู้มากก็ช่วยได้มาก รู้จริงจึงช่วยได้จริง อย่างสูงคือความเข้าใจสัจจะของธรรมชาติของชีวิตและตัวตนอย่างเต็มที่สูงสุด (ปัญญา) และมีความปรารถนาดี รู้สึกเป็นพวกหรือฝ่ายเดียวกัน จึงต้องการช่วยเหลือผู้อื่นเหมือนช่วยตัวเอง อย่างสูงคือปราศจากความเห็นแก่ตัวสิ้นเชิงแล้วจึงเห็นแก่ผู้อื่นอย่างแท้จริง (เมตตา) อนึ่งการทำงานช่วยเหลือบุคคลนั้น ย่อมได้รับความทุกข์ยาก จึงต้องมีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ มีความบากบั่นฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคนานาประการ อย่างสูงคือมีความอดทนอดกลั้นต่ออำนาจของกิเลสที่มายั่วยุและยั่วยวนทั้งหลายให้เลิกรา พ่ายแพ้แก่ความเรียกร้องต้องการของใจ (ขันติ)
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นโพธิสัตวธรรมสำหรับคนหนุ่มสาวผู้สนใจอุทิศตนตามแนวทางของโกมล คีมทอง ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสได้ให้ความหมายว่า เป็นการตัดปัญหาด้วยสติปัญญาอันถูกต้อง และบังเกิดผลอันพึงปรารถนา อย่างพอเหมาะพอดีแก่กาลเทศะและบุคคลชุมชนนั้น ตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการ อันเป็นเกณฑ์วินิจฉัยความเป็นคนดีแท้ที่ทั่วด้านตามหลักพุทธศาสนา จนสามารถสร้างสรรค์ "ธัมมิกสังคมนิยม" อันพึงปรารถนาขึ้นมาในโลกนี้ได้ในที่สุด
สำนักพิมพ์ขอขอบคุณคุณพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ และพระดุษฎี เมธังกุโร ที่ช่วยถอดเทปคำบรรยายและตรวจทานต้นฉบับให้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้หนังสือจัดพิมพ์ออกมาทันกำหนด
นอกจากธรรมกถานี้แล้ว ทางสำนักพิมพ์จะได้รวบรวมจัดพิมพ์ข้อเขียนของ "ครู" ที่โกมล สนิทและเคารพมากกล่าวถึงศิษย์ไว้ตลอดจนความคิดความรู้สึกที่โกมลเขียนถึงตนเอง รวมทั้งถ้อยคำของคนหนุ่มสาวรุ่นหลัง ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอุดมคติและแบบอย่างของโกมลได้เอ่ยถึง อย่างใคร่ครวญชี้ชวนและวิพากษ์วิจารณ์ออกมาโดยลำดับ ตลอดศกนี้ รวมทั้งปาฐกถาประจำปีซึ่งได้จัดพิมพ์ออกมาเป็นประจำทุกปีด้วย
หวังว่าหนังสือเล่มนี้และเล่มอื่น ๆ ที่สำนักพิมพ์จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงโกมล คีมทอง ในวาระ ๒๐ ปีแห่งการจากไป จักอำนวยประโยชน์เกื้อกูลแก่การนึกถึงคนดี ที่จักไม่ตายไปจากใจของผู้คนและเป็นจุดเริ่มต้นของการทบทวนไตร่ตรองอย่างถ่องแท้ รอบคอบ และก้าวไปอย่างหนักแน่นและมั่นใจ ในท่ามกลางสังคมปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์และปัญหาเลวร้ายกว่าเมื่อสองทศวรรษก่อนนั้นมากนัก สังคมไทยยังต้องการคนที่กล้าหาญ เสียสละ และจริงจังอย่างโกมลที่ยอมตนเป็นอิฐก้อนแรก และก้อนต่อ ๆ ไปในการสร้างสรรค์หนทางเพื่อคนส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาสได้มีศักดิ์ศรี ความภาคภูมิใจ ความเคารพกราบไหว้ตัวเอง เป็นตัวของตัวเองเท่า ๆ กับความยอมรับนับถือผู้อื่น และอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน เกื้อกูลและเป็นสุข ทั่วทั้งสังคมและธรรมชาติทั้งมวล
โกมล คีมทองจะไม่ตายและไม่มีวันตาย เพราะบุคคลจบสิ้นไปก็แต่เพียงกาย หากเกียรติคุณความดีที่กระทำไว้จะคงอยู่ยั่งยืนตลอดไป และจักได้รับการสืบสานต่อจากคนรุ่นถัด ๆ ไปไม่สิ้นสุด
ด้วยความปรารถนาดี
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง |