แนะนำมูลนิธิโกมลคีมทอง

มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดตั้งขึ้นภายหลังจากการเสียชีวิตของนายโกมล คีมทอง บัณฑิตหนุ่มจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ หรือครูโกมลของเด็กน้อยแห่งโรงเรียนเหมืองห้วยในเขา ต.บ้านส้อง กิ่งอ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี แบบอย่างของเขาได้สร้างความศรัทธาให้กับผู้อยู่ข้างหลัง ร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิในนามของเขาขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๔ มิใช่เพียงเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เขาเท่านั้น หากมีวัตถุประสงค์ที่จะสานต่อและสนับสนุนผู้มีอุดมคติให้แพร่หลายเป็นจริงในสังคมนั่นคือเพื่อกระตุ้นเตือน และสนับสนุนให้บุคคลมีความเสียสละเพื่อสังคม มีอุดมคติเป็นผู้นำในทางที่ถูกต้อง

งานในระยะแรก มีการจัดทำสิ่งพิมพ์เพื่อเสนอแนวความคิดใหม่ ๆ ให้แก่สังคม จัดตั้งกลุ่มพูดคุยเกี่ยวกับการศึกษา จัดทำวารสาร ปาจารยสาร และริเริ่มจัดทำหนังสือพิมพ์ ชาวบ้าน เพื่อชาวชนบทเล่มแรกในประเทศไทย ในด้านศาสนา มูลนิธิฯ มีส่วนช่วยส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ให้เป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชน นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวมีบทบาทนำในวงการต่าง ๆ และสนับสนุนเงินทุนหรือหนังสือให้แก่กลุ่มกิจกรรมนักเรียน นักศึกษา รวมถึงสนับสนุนผู้ที่ต้องการทำงานพัฒนาในหมู่บ้านชนบทอีกด้วย

หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มูลนิธิฯ ช่วยให้เกิดโครงการค้นคว้าเกี่ยวกับสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อการพึ่งตนเอง โครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก และออกหนังสือพิมพ์ เพื่อนชาวบ้าน ขึ้นในปลายปี ๒๕๒๒ หลังจากนั้นได้ให้ความสนับสนุนแก่โครงการแด่น้องผู้หิวโหย โครงงานประสานงานชนบท โครงการส่งเสริมการศึกษาชุมชน โครงการเทคโนโลยีที่เหมาะสม โครงการส่งเสริมอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาชนบท โครงการหมู่บ้านสหกรณ์นักเรียน โครงการศูนย์ยุวชนเพื่อนเด็ก โครงการปันรักเพื่อเด็กเร่ร่อน โครงการห้องสมุดแสงตะวัน โครงการทัศนศึกษาปัญหาสังคมไทย โครงการเพื่อนร่วมทาง โครงการอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการอบรมเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการเพื่อคนรุ่นใหม่ในหัวเมือง โครงการนิเวศศึกษา โครงการพัฒนาอาชีพเสริมเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และโครงการอบรมเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ปัจจุบัน มูลนิธิโกมลคีมทองมีหน่วยงานและกิจกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

สำนักพิมพ์ ก่อตัวขึ้นมาควบคู่กับการจัดตั้งมูลนิธิฯ ในระยะแรกจัดพิมพ์ในรูปแบบของจุลสาร ต่อมาเน้นหนังสือเกี่ยวกับการนำศาสนามาประยุกต์ใช้กับสังคมที่ซับซ้อน รวมถึงหนังสือในแนวการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง และการพึ่งตนเองของชุมชนระดับหมู่บ้าน ปัจจุบันสำนักพิมพ์ยังคงนำเสนอหนังสือที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับสังคม ซึ่งอาจกลายเป็นแนวคิดหลักของสังคมได้ในอนาคต อันได้แก่ แนวศาสนธรรมประยุกต์ แนวเกษตรกรรมธรรมชาติ แนวนิเวศวิทยา แนวอหิงสา-สันติวิธี แนวสุขภาพและวัฒนายุรศาสตร์ และอื่น ๆ

งายเผยแพร่อุดมคติ เริ่มกิจกรรมเมื่อปี ๒๕๒๖ เน้นงานทางด้านการเผยแพร่โดยใช้สื่อต่าง ๆ อาทิ จุลสาร สารโกมล ห้องสมุดแสงตะวัน การจัดอภิปรายเสวนาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในประเด็นที่น่าสนใจ เป็นต้น

ตลอดระยะเวลากว่า ๒๕ ปี มูลนิธิโกมลคีมทองเปิดโอกาสให้สามัญชนคนหนุ่มสาวได้เริ่มคิด และร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและตนเองเป็นที่เพาะต้นกล้าแห่งความดี ความงาม และความจริง เป็นแหล่งพักพิงของคนที่มีเชื้อไฟแห่งความเอื้ออาทร แม้มูลนิธิฯ แห่งนี้จะไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างระดับประเทศแต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีเยาวชนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยเคยได้รับแรงบันดาลใจและเกิดการพัฒนาจิตสำนึกฝ่ายดีขึ้นจากที่แห่งนี้ สมตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งมูลนิธิฯ และตามอุดมคติที่ดีงามของครูโกมล คีมทอง หนุ่มสามัญชนผู้ซึ่งยอมตนเป็นอิฐก้อนแรกก้อนนั้น

“หินก้อน แรกร่วง ลงพื้น ก้อนอื่น ร่วงตาม ทับถม

กลบมิด ก้อนเก่า เจ้าจม สะสม เป็นทาง ให้เดิน”

จำนวนผู้เข้าชม 003313