เปิดประเด็น

โดย อ้ายขวัญ จันดา

 

บทบาทเทคโนโลยีกับวิถีการอ่าน…ของวัยรุ่น

 

จับกระเเสการอ่านหนังสือของวัยรุ่นไทยท่ามกลางยุคสมัย ” เทคโนโลยีนิยม ” ของท่านผู้นำประเทศคนปัจจุบัน  ก็คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าวิถีการอ่าน...ของวัยรุ่นยุคนี้ เริ่มเข้าสู่มุมมืดมากขึ้นทุกที  จากผลการวิจัยล่าสุดพบว่าประชาชนคนไทยเฉลี่ยเเล้วอ่านหนังสือกันค่อนข้างน้อย คือ ๖ บรรทัดต่อปี แต่กลับดูทีวีมากถึง ๓ ชั่วโมง๕๐  นาทีต่อวัน   ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยุคกระเเสบริโภคนิยม   ผนวกกับยุคเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเสพข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ในการบริโภคข่าวสารให้กับประชาชน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่หลงใหลในเทคโนโลยีจนกลายเป็นกระเเสเเฟชั่น  “  ซึ่งนับว่าเป็นจุดอันตรายอย่างยิ่ง”  ของคนที่จะขึ้นไปสู่พลพรรคปัญญาชนในสังคม

 

ภายใต้กฎเกณฑ์กระเเสสังคมอิเล็กทรอนิกส์  หากจะมองอีกเเง่มุมหนึ่ง มันก็คงไม่ผิดมากนักเพราะประดิษกรรมเหล่านี้ล้วนเเล้วแต่ถูกคิดเเละสร้างสรรค์มาจากหัวสมองของมนุษย์ที่มุ่งหวังจะพัฒนาวัตถุอันเกิดจากจินตนาการที่บรรเจิดเพริศเเพร้วขึ้นมาเพียงเพื่อสนองความต้องการของตน  

 

หากลองเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาเเล้ว  หรือกำลังพัฒนาบางประเทศจะเห็นได้ว่าประชากรส่วนใหญ่  ให้ความสนใจในการอ่านหนังสือกันมาก  ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพทางด้านต่าง ๆ แล้วยังถือเป็นบรรทัดฐานของการเรียนรู้เเละเป็นฐานในการพัฒนา โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาวก็ยังนิยมท่องโลกด้วยตัวอักษรของหนังสือมากกว่าการท่องโลกด้วยอักษรของหน้าจอคอมพิวเตอร์ เเต่สิ่งที่ปรากฎกับวัยรุ่นไทยอยู่ในขณะนี้กลับสวนทางกับกระแสโลก นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องกลับมาขบคิด

 

หลายครั้งที่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองในสิ่งที่ได้พบเห็นกับวิถีการอ่าน…ของวัยรุ่นในยุคนี้ว่า ทำไมเหล่าวัยโจ๋วัยจ๊าบถึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของการอ่านหนังสือทั้ง ๆ ที่หนังสือจะเป็นตัวเพิ่มพูนสติปัญญาให้พวกเขาได้ฉลาดรอบรู้  เสริมสร้างแนวความคิดให้เเตกฉานในการดำเนินชีวิต  เเละเเยบยลในการเเก้ปัญหาต่าง ๆ ของเเต่ละช่วงจังหวะชีวิต  เเล้ววัยรุ่นยุคนี้  เขาเสพหรือเเสวงหาความรู้มาเป็นอาหารสมองกันอย่างไร ?

 

ท่ามกลางความพลุกพล่านของผู้คนที่เดินกันขวักไขว่เรียงรายตามบาทวิถี ส่ำเสียงเเห่งมหานครเเฟชั่นที่เต้นเร่าชวนให้พิสมัยอย่างย่านสยามสเเควร์ดินเเดนที่เปรียบดังสวรรค์ของวัยรุ่น  ผมเดินปะปนไปกับผู้คนเผื่อว่ามันจะทำให้ผมดูกลมกลืนกับกระเเสเเฟชั่นของวัยรุ่นสมัยนี้ 

  “หากจริง ๆ เเล้ว เมื่อเหลียวมองดูตัวเองขณะนี้  เปล่า! ผมหาได้ดูกลมกลืนไปกับพวกเขาเหล่านั้น  ทั้งเสื้อ ผ้า การเเต่งตัวยิ่งทำให้ผมดูแตกต่างกับผู้คนและสถานที่นี้ราวฟ้ากับดิน” และเหตุที่ทำให้ผมต้องมาเดินปะปนอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคยนักแห่งนี้ ก็เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามและข้อสงสัยต่าง ๆ ที่มันคั่งค้างอยู่ในหัวสมองของผมจะได้ถูกเฉลยให้หายกังขาเสียที

 “หนังสือหรือพี่ อ่านซิ  หนังสือที่จะสอบนะ” หนึ่ง  ตอบคำถามได้อย่างไม่ต้องคิด    

“ถ้าไม่สอบก็ไม่อ่าน  หร๊อก”  เธอลากเสียงยาวคล้ายจะบงบอกถึงอารมณ์ความเบื่อหน่ายที่ต้องพูดถึงการอ่านหนังสือเสียเต็มประดา

“ ไม่รู้ว่าอ่านเเล้วจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร  อ่านเสร็จ สอบเสร็จ  ก็ลืม ไม่ได้เอาไปใช้สักหน่อย โน่น  มันต้องอย่างโน้น  หลักการใช้ชีวิตให้ดำรงคงอยู่กับสภาพสังคมในปัจจุบันต่างหากที่ต้องเรียนรู้  มันน่าจะมีความจำเป็นมากกว่าที่จะมาท่องจำจากตำรา  มันต้องเจอกับสถานการณ์ของสังคมเเล้ว เอาสถานการณ์มาสั่งสมเป็นประสบการณ์ที่ได้จากสังคม เพื่อมาเป็นเเหล่งความรู้ เเล้วนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันในช่วงวัยของหนู  คงจะดีกว่า”

 

“ เเต่ถ้าจะให้พูดถึงหนังสือกับวัยรุ่นสมัยนี้จากที่เห็นมา หรือจากเพื่อน ๆ ที่คบกันอยู่ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอ่านหนังสือ  น้อยนะ  ที่จะเห็นคนรุ่นหนูใช้เวลาว่างหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน  เห็นส่วนใหญ่พอว่าง ไม่เปิดทีวี ก็เปิดคอม ฯ เล่นเน็ต ซึ่งมีทั้งภาพ สีสัน ชวนให้ติดตาม บางคนถึงกับติด  อย่างวันใหนถ้าไม่ได้เล่นคอม ฯ หรือท่องเน็ตจะรู้สึกหงุดหงิดอย่างไรไม่รู้  อีกอย่างวัตถุทันสมัยเหล่านี้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ เเละที่สำคัญไม่ถูกเพื่อน ๆ กล่าวหาว่าล้าสมัย เเถมยังสนุกอีกด้วย”

 

“ถ้าหนูจะเลือกอ่านหนังสือซักเล่มนะ    ขอเลือกอ่านอะไรที่มันอ่านง่าย ๆ สบาย ๆ อย่างเช่น หนังสือบันเทิง หรือเกร็ดความรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะเกร็ดความรู้ว่าจะทำอย่างไรให้รู้เท่าทันพวกผู้ชาย  การใช้ชีวิตให้รู้เท่าทันสังคมสมัยนี้ก็คงได้ เเต่จะมาให้อ่านหนังสือที่มีเนื้อหาหนัก ๆ อย่างการเมืองที่ด่ากันไปด่ากันมาคงไม่เอา”

 

ทางด้านน้องเมย์สาวหน้ากลมรูปไข่ ซึ่งมีสไตล์การเเต่งตัวที่เข้ายุคสมัยด้วยเสื้อสายเดี่ยวตามสมัยนิยม หลังจากนั่งนิ่งฟังการสนทนา  ก็เริ่มจะแสดงความคิดเห็นกับหัวข้อการสนทนาถึงเรื่องราวการเเสวงหาความรู้ในมุมมองของเธอที่เป็นเรื่องราวหรือฉากชีวิตเล็ก ๆ เปรียบเสมือนมีรั้วมากักกั้นระหว่างโลกของวัตถุเเละโลกของหนังสือซึ่งทั้งสองสิ่งน่าจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ชีวิตของเธอมีความรู้เท่าทันกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่เฉกเช่นทุกวันนี้ เเล้วเธอจะมีวิธีการบริโภคมันอย่างไร

 

 “สำหรับเมย์เองก็อ่านหนังสือเหมือนกัน ไม่ได้ปฎิเสธว่าจะต้องอ่านหนังสือเรียนหรือเสพข้อมูลจากวัตถุเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว อย่างหนังสือนิตยสารบันเทิง หรือหนังสือการ์ตูนของต่างประเทศ ก็อ่านบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลาย แต่ก็ไม่ถือว่าอ่านบ่อยนัก นอกจากนี้เเหล่งความรู้ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่คิดว่าได้มา คือการได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิต จากการที่มีโอกาสพูดคุยกับคนวัยเดียวกัน ที่นอกเหนือจากตำราเรียนทั่ว ๆ ไป หรือเเม้กระทั่งอินเตอร์เน็ตที่จะให้ความรู้เเละเเนวคิดเฉพาะที่คนเขียน  เขียนไว้เท่านั้น  เเต่ถ้าเป็นการพูดคุยมันได้มีโอกาสตอบซึ่งกันเเละกัน ซักถามข้อสงสัย ศึกษาพฤติกรรมของคนเหล่านั้นซึ่งเป็นการต่อยอดความรู้ได้เป็นอย่างดี

 

อีกอย่างวัยรุ่นสมัยนี้มีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องการอ่านหนังสือกันน้อยมาก คงเป็นเพราะกระเเสเเฟชั่นมาเเรงกว่า  ซึ่งบางครั้งเมย์มองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมานั่งอ่านหนังสือเพื่อเป็นการเสพข้อมูลความรู้เพียงด้านเดียว ปัจจุบันคงต้องยอมรับว่ากระเเสเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะวิถีชีวิตของวัยรุ่นที่จะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต หรือเเม้กระทั้งทางโทรศัพท์เพื่อให้ทันยุคทันสมัยของกระเเส รวมทั้งเมย์ด้วย

 

  เเต่หากจะมองถึงปัญหาด้านการอ่านหนังสือน้อยของวัยรุ่นคงมีปัจจัยหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นกระเเสเทคโนโลยีที่เปิดกว้าง เเละง่ายต่อการเสพ  หรือเเม้กระทั่งการปลูกฝังเรื่องการอ่านตั้งเเต่ระดับรากหญ้าซึ่งเริ่มตั้งเเต่  สถาบันครอบครัว  โรงเรียน  หรือเเม้กระทั่งภาคประชาชนเเละรัฐบาลเองว่า ณ เวลานี้ได้ตระหนักถึงปัญหากันหรือไม่ หากมองว่ามันเป็นปัญหา  ใช่ เเต่ประกาศปาว ๆ ว่าประชาชนอ่านหนังสือกันน้อย  เเล้ว พวกท่านทำอะไรกันบ้างในขณะนี้   ที่มันบ่งบอกว่าให้ความสำคัญในเรื่องของการอ่านเเละทำให้เห็นเป็นรูปธรรม”

 

ห้วงยามระหว่างการสนทนาถึงประเด็นที่ผมอยากรู้ ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของหนึ่งและเมย์นี้ ยังคงมีเรื่องราวที่ต้องให้ขบคิดอีกมากมายถึงแนวคิดการดำเนินชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการอ่านหนังสือในแง่ของปัจเจก ของวัยรุ่นซึ่งช่วยสะท้อนให้เห็นถึงระบบการศึกษาที่ทำให้นักเรียน นักศึกษา อ่านหนังสือเพียงเพื่อทำข้อสอบผ่านเท่านั้น แต่ไม่เพียงพอที่จะใช้ประกอบการดำเนินชีวิต หรือนี่เป็นเพียงริ้วรอยและเรื่องราวที่อยู่ในห้วงยามแห่งยุคที่เรียกได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศกับวิถีการอ่าน…ของวัยรุ่น

 

 

[เปิดประเด็น] [เล่าสู่กันฟัง] [ฝากคำ] [มุมหนังสือ] [ว่าด้วย…ชีวิต] [บทความจร] [คมความคิด] [ธารกวี] [บทบรรณาธิการ]
จำนวนผู้เข้าชม 005880