เปิดประเด็น

ณัฐกา สงวนวงษ์ และ สมพร สัมภาษณ์

สมพร  สมบูรณ์ศิริพันธุ์ เรียบเรียง

 

(FTA) เขตเสรีทางการค้า : กรงขังที่มองที่เห็น

 

                ประเด็นที่เป็นกระแสคัดค้านให้เกิดการทบทวนกันอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่องการเจรจาเปิดการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ นับ ๑๐ ประเทศอย่างรีบเร่ง โดยขาดการศึกษาข้อมูลเชิงลึก และการเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมรับรู้และมีส่วนในการตัดสินใจ มีเพียงสิ่งที่เรียกว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำกับการกระโจนขึ้นขบวนรถไฟ FTA เท่านั้น ที่เป็นตัวผลักดันการนำประเทศไปสู่ความฉิบ…!

                คุณจักรชัย โฉมทองดี นักวิจัยโครงการศึกษาและปฏิบัติการพัฒนาสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาและติดตามผลกระทบทั้งในกรอบพหุภาคี ภายใต้ WTO และทวิภาคี หรือที่เรียกว่า FTA โดยเฉพาะผลกระทบต่อประเทศไทยและคนยากจนส่วนใหญ่ บทสัมภาษณ์คุณจักรชัยนี้เป็นมุมมองเชิงวิเคราะห์และข้อเท็จจริงจากสถานการณ์การเปิดการค้าเสรี ซึ่งจะทำให้เรารู้จักและเข้าใจข้อดีข้อเสียของการเปิดเสรี (FTA) มากกว่าเพียงคำบอกกล่าวของรัฐบาล

 

สมพร : อยากเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจความหมายของ FTA ก่อนว่าหมายถึงอะไร

จักรชัย : FTA ย่อมาจาก Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรี ซึ่งหมายถึงประเทศที่ทำการตกลงกันนั้น เวลานำเข้าสินค้าหรือส่งออกสินค้ากับประเทศคู่สัญญา ถึงที่สุดแล้วก็ไม่สามารถเก็บภาษีต่อกันได้ ถ้าเราเป็นผู้นำเข้า นั่นหมายถึงว่า เราไม่สามารถปกป้องตลาดหรือผู้ผลิตภายในบ้านเราได้อีกต่อไป กำแพงภาษีต้องถูกยกเลิก

                แต่ถ้ามองในฐานะประเทศผู้ส่งออก ประเทศอื่นที่เราจะส่งไปตลาดเขานั้น เขาก็ลดการกีดกันทางการค้าเมื่อเราส่งไปขายได้ คนในบ้านเราจะได้มีงานทำ ขายของได้เยอะขึ้น ก็เป็นการมองเหรียญเดียวแต่สองด้าน

           

ณัฐกา : และในแง่ของผู้บริโภค จะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีอย่างไร

จักรชัย : จริงๆ แล้วเรื่องนี้มีการพูดกันมาก ว่าการเปิดเสรีนั้นผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือผู้ผลิต โดยเฉพาะผลกระทบด้านลบ อย่างเกษตรกร ถ้าเราเปิดเสรี เกษตรกรก็ต้องสูญเสียอาชีพ แต่ตามตรรกะ ผู้บริโภคน่าจะซื้อของได้ถูกลง อย่างไรก็ตามถ้ามองระยะสั้น  ๆ ก็อาจมองได้อย่างนี้ แต่ผมอยากให้มองระยะยาวและมองภาพรวมของสังคม จากประสบการณ์ของประเทศอื่น สุดท้ายแล้วผู้บริโภคก็ไม่ได้ประโยชน์ ผมขอยกตัวอย่างใกล้ตัว คือ ประเทศไทย  แต่ก่อนเราปลูกถั่วเหลือง เราผลิตนม ตอนหลังเรานำเข้าถั่วเหลืองที่ราคาถูกจากสหรัฐฯ เข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ปลูกถั่วเหลืองบ้านเราแย่ ต้องล้มไป เป็นหนี้เป็นสิน ต้องขายที่ดิน เพราะว่าราคาตกต่ำผู้ผลิตเสียประโยชน์ เรามองว่าถั่วเหลืองเข้ามาในราคาที่ถูก ผู้บริโภคก็น่าจะได้ประโยชน์ ปรากฏว่าจากการตรวจสอบแล้ว สินค้าปลายที่เป็นสินค้าจากผลผลิตถั่วเหลือง ราคาไม่ได้ถูกลงเลย ทั้งที่ตันทุนถูกลง กรณีของนมก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นผลประโยชน์จึงตกแก่ผู้ประกอบการณ์มากกว่าที่จะตกกับผู้ผลิต โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลไม่มีความพร้อมที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ในการแทรกแซงว่าผลประโยชน์ควรตกแก่ใคร

 

 

สมพร : อยากทราบว่าแล้วรัฐบาลเราได้ไปศึกษาข้อมูลตรงนั้นไหม

จักรชัย : ผมยืนยันว่าแม้แต่ภายในระดับประเทศเอง ก่อนเริ่มการเจรจา ไม่มีการศึกษาในรายละเอียดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และอำนาจอธิปไตยของชาติ รัฐบาลเริ่มการเจรจาโดยอาศัยเพียงสิ่งที่เรียกกันว่าเป็นวิสัยทัศน์ของผู้นำในการตัดสินใจ ในกรณีของออสเตรเลีย มีแค่การมองภาพรวมคร่าวๆ ก่อนเท่านั้นเอง พอเจรจาเสร็จประมาณเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพิ่งให้คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา ฯ ทำการศึกษา ซึ่งก็ยังเป็นภาพรวมอีกอยู่ดี พอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้อำนาจในการไปลงนาม FTA แล้ว ก็เพิ่งจะมีการศึกษาในแต่ละภาคการผลิต เช่น ดูว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมนม โคนม – โคเนื้อ จะได้หรือไม่ได้อย่างไร ผลการศึกษาออกมา ๑๐ วัน หลังจากที่ลงนามไปแล้ว

                แต่การศึกษาก็ยังไม่จบ เพราะว่าการส่งออกไปออสเตรเลียนั้น นอกจากเขาจะลงมาตรการทางภาษีแล้ว เขายังมีมาตรการอื่นๆ อีก เช่น มาตรการแหล่งกำเนิดสินค้า ตรงนี้เป็นปัญหา เพราะประเทศเราพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งภายนอกสูง เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ  อุตสาหกรรมรถยนต์ เราต้องมีการปรับเปลี่ยนลักษณะในการผลิต แต่การศึกษาก็ยังไม่ได้มองไปว่า ถ้ามีการปรับเปลี่ยนแล้ว เราจะได้ประโยชน์หรือเปล่า

                นอกจากนั้น ผมยังเน้นเรื่องของความมั่นคงทางอาหารโดยเฉพาะในกรณีสินค้าเกษตร เรื่องความมั่นคงทางอาหารจะเป็นตัวชี้วัดว่าผลประโยชน์ที่แท้จริงของผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นสิ่งเดียวกัน ที่ผมพูดจากนั้นเนื่องจากว่า ถ้าเราเลิกผลิตสินค้าหลายตัว เพราะเราผลิตสู้เขาไม่ได้ และเราไปผลิตเฉพาะที่เราสู้เขาได้นั้น ความหลากหลายทางการผลิตของเราย่อมต่ำลง ซึ่งหมายถึงความสามารถในการพึ่งตนเองนั้นก็ลดลงด้วย ผมอยากให้เว้นเรื่องพืชอาหารเพราะผมถือว่าระบบตลาดไม่สามารถรับประกันความมั่นคงทางอาหารได้ อยากให้ผลิตภายในประเทศระดับหนึ่ง แล้วที่เหลือจึงค่อยขาย

 

ณัฐกา : เท่าที่ศึกษาแล้วเราได้ประโยชน์จาก FTA บ้างหรือเปล่า และตอนนี้รัฐบาลมีท่าทีอย่างไรต่อไป

จักรชัย : ผมว่าทุกอย่างมันมีทั้งด้านดีและด้านเสีย อย่างกรณีออสเตรเลีย ผมว่าได้ไม่คุ้ม และคณะที่ทำการศึกษาที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาก็พูดเองว่าผลประโยชน์ที่ได้มันกระจุกอยู่เฉพาะคนบางกลุ่ม ในขณะที่ผมกระทบด้านลบที่ได้มันกระจายออกไปถึงคนหลายกลุ่ม

                ส่วนท่าทีของรัฐบาลตอนนี้ยังเดินหน้าเหมือนเดิม ขึ้นกับประชาชนว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน กรณีของออสเตรเลีย ผลประโยชน์ที่เราคาดว่าจะส่งรถยนต์ได้มากขึ้น แล้วเงินจะเข้าประเทศมากขึ้น แต่ผมไม่อยากมองตื้น ผมตั้งโจทย์ต่อไปว่า เงินที่ได้เข้ามานั้นมันไปไหน  อุตสาหกรรมรถยนต์มันก็มาจากญี่ปุ่น มีค่ายี่ห้อ ค่าอะไรต่างๆ นานา เงินที่เราขายได้มากขึ้นนั้น มันกลับไปญี่ปุ่นกี่เปอร์เซ็นต์ มันตกอยู่กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของไทยกี่เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญมันตกไปถึงแรงงานไหม ถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีการยืนยัน ผมตอบไม่ได้ว่าประโยชน์จะมีสำหรับคนส่วนใหญ่หรือไม่ รัฐบาลต้องเป็นคนตอบ ผมชี้ได้เลยว่าข้อดีมันอยู่ตรงไหน แต่ต้องทำออกมาให้ได้ว่าข้อดี ตรงนั้นมันได้จริงๆ สำหรับทุกคน

 

สมพร : กรณีที่เราเปิดเสรีกับประเทศที่สถานะใกล้เคียงกับเรา ผลได้ผลเสียจะเป็นอย่างไร

จักรชัย : ผมเห็นว่าอันตรายจะมีน้อยกว่า และประโยชน์จะมีมากกว่า อย่างที่กล่าวไปแล้วทุกอย่างมีทั้งได้และเสีย ขึ้นกับว่าจะทำอย่างไร ประเทศที่ไทยทำไปแล้ว เช่น อินเดีย บาห์เรน เปรู นอกจากนี้ก็จะมีกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเราก็ทำไปแล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ความคิดของรัฐบาลชุดนี้ คือการเปิดเสรีกับประเทศกลุ่มอาเซียน (AFTA) ในสมัยรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ไม่พูดถึงเพราะไม่ใช่ผลงานของตัวเอง บางทีการไปทำ FTA กับประเทศนอกกลุ่มในหลายส่วน มันไปทำลายความร่วมไม้ร่วมมือกันในระดับภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียผลิตสินค้าชนิดเดียวกันกับที่ออสเตรเลียผลิต และอินโดนีเซียผลิตเก่งกว่า แต่บังเอิญว่าเราไปเปิดเสรีกับออสเตรเลีย ทำให้เก็บภาษี ๐ % ในขณะที่เราเก็บจากอินโดนีเซีย ๕ % ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลียแทนที่จะเป็นอินโดนีเซีย ตรงนี้ถือเป็นการทำลายความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคในประเทศที่พัฒนาใกล้เคียงกัน ลักษณะอย่างนี้จะต้องคิดอีกที

               

สมพร : เพราะอะไรบางประเทศจึงชะลอการตัดสินใจ ในขณะที่ไทยเร่งเดินหน้า

จักรชัย : ในหลายๆ ข้อตกลงที่เราไปตกลงกับเขาแต่ยังมีปัญหา เขาก็ชะลอไว้ เช่น กรณีอินเดีย ในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า อินเดียให้ความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นเขาต้องยืดเวลาออกไป ถามว่าทำไมไทยถึงต้องรีบเร่งเหลือเกิน ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมืองไม่น้อยไปกว่าเรื่องเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ทางการเมืองมี ผลงานทางการเมืองมี การต้องการแสดงให้เห็นความเป็นผู้นำ แสดงให้เห็นว่าผู้นำเราสามารถต่อรองกับประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นได้อย่างเท่าเทียม มันเป็นภาพที่ผมเชื่อว่ารัฐบาลไทยต้องการจะส่งสัญญาณออกไป แต่ผมอยากบอกว่า การใช้ FTA ไปแสดงความเป็นผู้นำนั้น สุดท้ายแล้วผลประโยชน์มันตกอยู่กับประเทศอื่นที่เขาใหญ่กว่า ผมว่าตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านของเรามองเห็นแล้วครับว่าอะไรเป็นอะไร ผมไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องรีบ ต้นทุนจากการเร่งรีบมันสูงกว่า

 

ณัฐกา : จริงๆ แล้วการค้าระหว่างประเทศควรเป็นในรูปแบบไหน

จักรชัย : ผมคิดว่าการค้าระหว่างประเทศจำเป็นและสำคัญ การลงทุนระหว่างประเทศก็จำเป็นและสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะว่าเราจะได้เทคโนโลยีและอะไรมา แต่สัดส่วนการพึ่งพิงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจำเป็นต้องได้รับการคำนึงถึง มีการพูดถึงแนวคิดตามกระแสพระราชดำรัส เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกันเยอะในรัฐบาลชุดที่แล้ว โปรดสังเกตว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้พูดถึงเลย แต่อยากให้มองเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่า ถ้าคนไทยยอมรับแนวความคิดของในหลวงในความคิดนี้ ที่สำคัญต้องไม่ใช่เพียงแค่ระดับชุมชน แต่ต้องพอเพียงระดับชาติด้วย ถ้าเรายังเดินหน้าเปิดเสรี FTA อย่างนี้ ผมฟังธงว่าจะเป็นการขัดขวางการดำเนินการตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงในระดับภาพรวม เพราะว่าการทำ FTA จะเป็นการเพิ่มการพึ่งพาการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ ถ้ามีอะไรเปลี่ยนขึ้นมาเมื่อไหร่ คนไทยไม่สามารถทำอะไรได้

                ผมอยากเน้นว่า ประเทศที่เราไปเจรจากับเขาทั้งอินเดีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้พึ่งพิงภายในมากกว่าเราทั้งนั้น ณ ขณะนี้เราพึ่งพิงภายนอกมากกว่าประเทศเหล่านี้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปดูประเทศอื่น ดูเฉพาะประเทศคู่เจรจาว่าเขามียุทธศาสตร์อย่างไร และแค่เอายุทธศาสตร์เขามาใช้ เรื่องนี้ผมให้ความสำคัญ ปมเกรงว่าท่านนายกกำลังใช้อารมณ์มาตัดสิน ไม่ใช้เหตุผล และยกตัวอย่างเฉพาะจุดเวลามาอธิบายประชาชน เช่นที่บอกว่าประเทศจีนมีพันกว่าล้าน ถ้าเราเปิดการค้ากับจีน เราส่งไปค้าเท่าไหร่ก็ไม่หมด ก็แค่นั้น ท่านไม่ได้พูดถึงอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ ก็คือ คนจีนพันกว่าล้านที่ว่านั้นก็ผลิตมาขายบ้านเราหมายกัน ผลิตมาขายแข่งกัน เรื่องนี้ต้องคิดดูให้ดี

 

สมพร : แล้วตอนนี้เราจะมีส่วนร่วมทำอะไร

จักรชัย : ก็บอกต่อกัน ข้อเสนอคือ ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับ FTA แล้วพรรคการเมืองไหนประกาศว่าจะไม่ดำเนินการ FTA คุณก็เลือกพรรคการเมืองนั้น เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวเฉพาะกับเกษตรกร มันเกี่ยวกับวิชาชีพ เช่น หมอ พยาบาล ผู้ตรวจบัญชี นักกฎหมาย ทนายความ เกี่ยวหมด เกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ฉะนั้นสหภาพแรงงานก็เกี่ยว เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพราะฉะนั้นคนป่วยจะต้องกินยาราคาแพง ยืดเวลาของบริษัทยาข้ามชาติในการผูกขาดยาจาก ๒๐ ปี  เป็น ๒๕ ปี ลิขสิทธิ์จาก ๕๐ ปี หลังเจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์ตายไปแล้วเป็น ๗๐ ปี คดีทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องปรับจากคดีแพ่งเป็นคดีอาญา เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องดำเนินการถึงแม้าจะไม่มีเจ้าทุกข์มาร้องเรียน สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องแก้หมด รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะต้องเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้

                FTA เป็นเรื่องใหญ่มากแต่คนไม่รู้ และรัฐบาลก็พยายามจะบอกว่ามันเป็นเรื่องดี ต้องไม่ลืมนะครับว่ามันเกี่ยวหมดตั้งแต่คุณเกิดที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลนั้นคุณจะมีปัญญาไปใช้บริการรึเปล่า เพราะมันจะเป็นพยาบาลของต่างชาติ โรงพยาบาลรัฐอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะรัฐจะไม่สามารถอุดหนุนการรักษาพยาบาลได้ภายใต้ FTA จนกระทั่งคุณตาย เราต้องเปิดให้ต่างชาติเข้ามาจัดแพ็กเก็จงานศพซึ่งมันระบุอยู่ในเอกสารกระทรวงพาณิชย์ ทั้งการเสริมสวย งานศพ พิพิธภัณฑ์ สิ่งแวดล้อม สวนสาธารณะ ห้องสมุด เราต้องเปิดให้คนต่างชาติเข้ามาจัดการทั้งหมดได้ ภาพทั้งหมดจะเป็นอย่างนี้หรือไม่ขึ้นกับการเจรจา อย่างประเทศสหรัฐฯ ที่เราไปเจรจา เขาประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาจะเจรจากับประเทศไทย เขาต้องได้ไม่น้อยกว่าที่เขาได้จากประเทศที่เขาเจรจามาแล้ว อย่างชิลี หรือสิงคโปร์ เป็นต้น

                ผมเป็นกังวลว่า มนุษย์เราวิวัฒนาการมาหลายล้านปีจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่มีพฤติกรรมบางอย่างที่เรียกว่า พฤติกรรมบางอย่างที่เรียกว่า พฤติกรรมแบบฝูงปศุสัตว์ คือเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเดินไปทางนั้น เห็นคนอื่นเขาไปก็ไปด้วย ตรงนี้คือสิ่งที่ผมกลัวที่สุด

                การเปิดเขตการค้าเสรีทั้งในรูปพหุภาคีและทวิภาคี ล้วนเป็นเรื่องที่น่าหวั่นใจไม่น้อยเลย หากไม่มีการทบทวนข้อตกลงอย่างรอบคอบก่อนการเจรจา อีกทั้งการผลิตพืชผลเพื่อเน้นส่งออกโดยไม่ได้เน้นการพึ่งตนเองในเบื้องต้นก่อน การเป็นทาสการส่งออกก็คงจะมีมากขึ้นตามมา แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอาจถือเป็นยุทธศาสตร์หลักก็ได้ในการป้องกันผลประโยชน์ของประเทศ ก่อนที่จะพาเอาคนของแผ่นดินเหล่านี้ไปตกระกำกับการแขวนชีวิตไว้กับกลไกการตลาดจนนำไปสู่วงจรหนี้สินไม่รู้จบสิ้น

                               

                หล่งข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้สนใจ

นิตยสาร ผู้ไถ่ ฉบับเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ๒๕๔๗

จดหมายข่าว ประชาทรรศน์

www.ftawatch.org

หมายเหตุ : สำหรับผู้ที่ต้องการบทสัมภาษณ์ถอดเทปฉบับเต็ม กรุณาส่งแสตมป์ ๑๐ บาท มายังสนพ. ทางเรายินดีจะจัดส่งไปให้

[เปิดประเด็น] [เล่าสู่กันฟัง] [ฝากคำ] [มุมหนังสือ] [ว่าด้วย...ชีวิต] [ธารกวี] [บทความจร]
จำนวนผู้เข้าชม 006884