เปิดประเด็น
โดย : พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
มิติที่ขาดหายไป ของระบอบทักษิณ
รัฐบาลที่นำโดยนายทักษิณ ชินวัตร กำลังทำสถิติเข้าใกลรัฐบาลนายแบร์ลุสโคนี ของอิตาลีเข้าไปทุกที หากเมื่อซื้อทีมฟุตบอลลิเวอร์พูลสำเร็จ เขาจะเหมือนกับแบร์ลุสโคนี ตรงที่ว่า เป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนรายใหญ่ เป็นเจ้าขอทีมฟุตบอล (แบร์ลุสโคนีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทีมเอซีมิลานแชมป์บอลยุโรปปีที่แล้ว) ครองอำนาจนานที่สุด (รัฐบาลแบร์ลุสโคนีครองอำนาจนานที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา) และคงอยู่ไปได้เรื่อยๆ ที่สำคัญเป็นคนรวย (รวยอันดับหนึ่งทั้งคู่) ฯลฯ
ดูเหมือนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลายเป็นตัวดัชนีชี้วัดความนิยมของรัฐบาลไปเสียแล้ว เคยถามนักธุรกิจชาวมาเลเซียสมัยที่นายมหาเธร์ยังอยู่ในอำนาจ เธอบอกว่าตราบใดที่เศรษฐกิจยังดี มหาเธร์หรืออัมโน พรรคของเขา ไม่มีวัน ขาลง เพราะคนมาเลเซียคิดกันแต่เรื่องเศรษฐกิจ ชะตากรรมของนายอันวาร์ อิบราฮิมในคุกของมาเลเซียคงเป็นอุทาหรณ์ที่ดี ล่าสุดพรรคของเขาที่มีภรรยาลงเลือกตั้งก็พ่ายแพ้จนราบคาบ แม้ในถิ่นฐานของตนเอง แต่ก่อนอาจจะมีคนมาตะโกน Reformasi สักพันคน เดี๋ยวนี้คงสักร้อยคน และจางหายไปในที่สุด
ระบอบทักษิณกำลังทำให้ไทยเป็นอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และอื่นๆ ประเทศซึ่งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นคำตอบในชีวิต ดัชนีชี้วัดของตลาดหุ้นเป็นชีพจรของประเทศที่ต้องรักษาไว้ทุกวิถีทาง ทั้งๆ ที่เป็นคุณประโยชน์ให้กับคนเพียงหยิบมือเดียว
ที่จะทำให้ระบอบทักษิณต่างไปเห็นจะมีปัญหาภาคใต้ที่คุโชนอยู่ สิ่งที่ทักษิณเสนอว่าเป็นคำตอบคือ การยัดเยียดความเจริญทางเศรษฐกิจไปให้สี่จังหวัดภาคใต้ ด้วยมิติทางเศรษฐกิจเพียงถ่ายเดียว เขามองว่าคนที่ออกมาดาหน้าให้ฆ่ากันเป็นเบือ เพราะเขา ยากจน เพราะ ยาเสพติด เพราะ หลงผิด
คำถามที่ไม่ได้ถามคือว่า เศรษฐกิจเป็นคำตอบเดียวหรือ ประเทศเพื่อนบ้านที่รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างมาเลเซียนั้น คนพื้นเมืองถูกย่ำยีศักดิ์ศรีมาเพียงใด แม้แต่การเดินทางในประเทศ คนเหล่านี้ยังต้องถือหนังสือเดินทางพิเศษ เพราะไม่ได้รับสถานะเป็นคนมาเลเซียรอยเปอร์เซ็นต์ สิงคโปร์เป็นประเทศที่กดขี่ความเห็นที่แตกต่างมากที่สุด ฝ่ายค้านของสองประเทศนี้ไม่ต่างจากสัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ และถูกจองจำไว้ในกรงเพื่อดูเล่นเท่านั้นเอง
ถ้าเศรษฐกิจเป็นเพียงคำตอบเดียว ความขัดแย้งวุ่นวายระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์คงจบลงไปนานแล้ว อิสราเอลคงหย่อนผลประโยชน์ทางเศรฐกิจมาให้ พวกปาเลสไตน์คงยอมร่วมมือกับอิสราเอล เพื่อสร้างเศรษฐกิจทีมันแข็งแรงให้ดีขึ้นไปกว่านี้ แทนที่จะฆ่ากันเป็นเบือ
ในอินโดนีเซีย อย่างในกรณีความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับคริสตชนที่หมู่เกาะโมลุกะ (โมลุกุ) ใครอธิบายได้ว่าเกิดเพราะอะไร จากที่เคยฟังคนที่นั่นเล่าให้ฟังเขาบอกว่าเรื่องเกิดจากการทะเลาะกันระหว่างคนสองคนที่ต่างศาสนา แล้วลามปามจนทุกวันนี้คนที่ต้องอพยพพลัดถิ่นเพราะสงครามภายในหลายแสนคน ในชั่วเวลาไม่ถึงสิบปี หมู่เกาะเครื่องเทศที่ชาวคริสต์และมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบมาช้านานกลายเป็นทะเลเพลิง
บางคนบอกว่าเป็นเพราะชาวคริสต์ส่วนใหญ่ที่นั่นมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า แต่คำถามว่าในเมืองอื่นๆ ที่มีทั้งชาวคริสต์และมุสลิมแยู่ร่วมกันจำนวนมาก และมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่เท่าเทียมกัน แต่ไม่ขัดแย้งกันก็มีถมไป อย่างเมืองเมดาน เป็นต้น
ทักษิณคิดว่าการกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจไปสู่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยแก้ปัญหาได้ และเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ทั้งนี้เพราะความคิดที่ตีบตันคับแคบของเขา ทักษิณอาจเป็นคนอ่านหนังสือมาก แต่หนังสือที่เขาอ่าน คับแคบ มีแต่เรื่อง เทคนิค หาอันใดเป็นหลักปรัชญาที่ลึกซึ้งไม่ ที่เขาเข้าใจท่านพุทธทาสเป็นไปอย่างผิวเผิน แม้แต่กับพระพุทธศาสนา ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับที่วิทยากร เชียงกูร พูดในการอภิปรายเมื่อเร็วๆ นี้ว่า
ยกตัวอย่างคุณทักษิณ เขาเป็นคนฉลาด เก่ง แต่เป็นคนคิดแบบนี้ในกรอบของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การค้า ตัวเลขเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดเลยว่าคุณทักษิณไม่เคยอ่านนวนิยายเลย อ่านแต่พวก How to? เพื่อประสบความสำเร็จในชีวิตธุรกิจ ทำให้มีมิติไปทางเดียว เข้าใจแต่มิติทางเศรษฐกิจ วัตถุ ดังนั้น ความเข้าใจทางสังคมวัฒนธรรมก็แย่ ซึ่งจะทำให้ตนรุ่นใหม่ยกย่องคนแบบนี้ว่าเป็นคนประสบความสำเร็จ ว่องไว ฉลาด เก่ง (มติชน ๑๔ พ.ค. ๒๕๔๗)
อันที่จริงสิ่งที่ชาวภาคใต้ต้องการจากปากคำของพวกเขาคือ ความเคารพ ในความแตกต่าง ไม่ใช่การกระจาย ทุนนิยม เข้าไป อย่างที่นายศรีศักร วัลลิโภดม อดีตอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า
แต่สิ่งที่รัฐยังทำผิดอยู่ร่ำไปก็คือการคิดว่าเมื่อเขาจน เราต้องเอาอุตสาหกรรม เอาโรงงานขนาดใหญ่ลงไป โดยไม่มองว่าสิ่งเหล่านี้ไปทำลายระบบนิเวศที่เขารักและภาคภูมิ รัฐไม่เข้าใจว่าชีวิตของชาวมุสลิมไม่มีทางที่จะปรับเข้ากับโลกวัตถุนิยมได้ เราต้องยอมรับว่าเขาเป็นเขตวัฒนธรรมหนึ่ง เราต้องกันนอกไม่ให้เข้าไปรุกรานวัฒนธรรมของเขา ดังนั้นการจะขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาจะต้องมองอย่างเข้าใจ (ข่าวสด ๑๔ พ.ค. ๒๕๔๗)
แต่ทักษิณไม่มีทางคิดถึงเรื่องนี้ได้ เพราะความคับแคบตีบตันทางสติปัญญาของเขา เขามองว่ามิติทางการตลาดเป็นคำตอบ เพราะช่วยเติมชีวิตคนให้เต็ม ซึ่งอันที่จริงผิดแม้ในหลักการของทุนนิยมเอง อย่างสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศทุนนิยมสุดโต่ง หลังจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นเวลาหลายทศวรรษ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมอเมริกากลับรุนเเรงมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก ทุนนิยมเติบโตได้ด้วยการธำรงและเอาเปรียบคนที่ฐานรากเอาไว้
ในแง่ของจิตวิญญาณเอง นักวิชาการบางคนอย่างเดวิด ลอย มองว่ามนุษย์มีความรู้สึกพร่องตลอดเวลา และพยายามแสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อมาเติมความพร่องตรงนั้น แม้ไม่มีแนวโน้มว่าจะสำเร็จก็ตาม การตลาดกลายเป็นศาสนาใหม่ ที่พยายามให้คำตอบที่เป็นเหมือนความหวัง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถตอบสนองความกระหายที่จะเติมเต็มความรู้สึกพร่องเหล่านั้นได้
ที่คุณทักษิณพูดไว้เมื่อปี ๒๕๔๐ คงทำให้เราสะท้อนใจอะไรบางอย่างบ้าง
บริษัทคือประเทศ ประเทศคือบริษัท เหมือนกันยังกับแกะ การบริหารก็ใช้วิธีเดียวกัน (A company is a country. A country is a company. Thay re the same. The management is the same. อ้างใน A country is a company. A PM is a CEO, Pasuk Phongpaichit, Bangkok Post ๒๑ เมษายน ๒๕๔๗)
|